เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2017 ในไลน์ของกลุ่มเพื่อนชาวไทยในสหรัฐที่นิวยอร์กได้ส่งข่าวต่อๆกันว่า “ประกาศ ช่วยบอกเพื่อนๆคนไทยที่ไม่มีใบเขียวหรืออยู่แบบ Visa ขาดต้องระวังให้มาก เพราะคนไทย 4-5 คนไปเที่ยว L.A.กลับมาที่ Airport (นิวยอร์ก)ถูกจับเข้าห้องขังและส่งกลับเมืองไทยเลยค่ะไม่มีโอกาสกลับ (ไป)เก็บของเลย ข่าวจากน้องหนุ่มที่กงสุลไทยค่ะ”
ก่อนหน้านี้ในทางปฏิบัติ เมื่อถูกเจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นจับกุมมักจะให้เพื่อนหรือญาติติดต่อทนายความเพื่อเป็นตัวแทนว่าความให้ บุคคลผู้ถูกจับกุมจะถูกนำไปกักขังในสถานที่ที่เรียกว่า Immigration detention center เพื่อรอการขึ้นศาลอิมมิเกรชั่น
รายงานข่าวเปิดเผยว่าในช่วงนี้นายดอนัลด์ ทรัมพ์ ประธานาธิบดีสหรับคนที่ 45 กำลังดำเนินนโยบายตามที่ตนคิดว่าดีที่สุดเริ่มจากการออกคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order)เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2017 เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยและคนเข้าเมือง 3 ประเด็นคือ
1.ห้ามผู้ลี้ภัยอพยพเข้าสหรัฐเป็นเวลา 120 วัน
2. ผู้ลี้ภัยอพยพจากซีเรียห้ามเข้าสหรัฐโดยเด็ดขาด
3.คนเข้าเมืองที่ถือพาสปอร์ต 7 ประเทศประกอบด้วยอิหร่าน,อิรัก,ลิเบีย,โซมาเลีย,ซูดาน,ซีเรียและเยเมนห้ามเข้าสหรัฐเป็นเวลา 90 วัน
คำสั่งดังกล่าวเกิดการประท้วงตามมาทั้งในสหรัฐและเมืองใหญ่ของโลกจนนำไปสู่การฟ้องร้องและคดีไปถึงขั้นศาลอุทธรณ์ภายในระยะเวลากว่า 1 สัปดาห์ที่นายทรัมพ์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2017 เป็นต้นไป
พร้อมกันนี้ก็ประกาศจะสร้างกำแพงกั้นชายแดนด้านใต้ของสหรัฐกับประเทศเม็กซิโก
บรรดาโรบินฮู้ดไม่ว่าชาติไหนต้องระวัง
รายงานข่าวเปิดเผยว่าไม่เพียงแต่รัฐบาลทรัมพ์จะมีคำสั่งฝ่ายบริหารออกมาเท่านั้น การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองสหรัฐ(อิมมิเกรชั่น)ก็ต้องทำงานควบคู่ไปด้วยตามนโยบายของนายทรัมพ์ที่จะส่งผู้อพยพผิดกฎหมายออกจากสหรัฐ
หนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์รายงานเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2016 โดยการอ้างคำแถลงของศูนย์ศึกษาคนเข้าเมือง (Center for Migration Studies)แห่งนิวยอร์ก เปิดเผยว่าคนอยู่ในสหรัฐที่ผิดกฎหมายมี 10.9 ล้านคนหรือลดต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี2003 เป็นต้นมา กลุ่มคนที่ลดลงไปมากประกอบด้วยเม็กซิโก,อเมริกากลาง,อเมริกาใต้และยุโรป
ทั้งนี้บุคคลที่อยู่อย่างผิดกฎหมายในสหรัฐมี 2 ประเภทคือกลุ่มแรกเป็นคนเล็ดรอดเข้าตามชายแดนไม่มีเอกสารใดๆติดตัวเข้ามาจึงเรียกว่า The undocumented illegal immigrant ส่วนกลุ่มที่สองเป็นผู้มีเอกสารเดินทางเข้าสหรัฐอย่างถูกต้อง โดยเข้าสหรัฐด้วยวีซ่าคนเข้าเมืองประเภทต่างๆเช่นวีซ่านักเรียนนักศึกษา,วีซ่าท่องเที่ยว ฯลฯ หลังจากวีซ่าหมดอายุก็ไม่ออกจากสหรัฐจึงกลายเป็น “โรบินฮู้ด”ไปด้วย คนไทยที่อยู่ผิดกฎหมายก็อยู่ในกลุ่มหลัง
รายงานข่าวเปิดเผยว่าเมื่อเจ้าหน้าที่อิมมิเกรชั่นตรวจพบและจับได้ว่าอยู่อย่างผิดฎหมายก็จะถูกส่งกลับไปยังประเทศเดิมที่เดินทางมาทันที่ไม่มีโอกาสได้เก็บข้าวของใดๆ หากไปจากประเทศไทยก็จะถูกส่งกลับประเทศไทย,หากเป็นชาวจีนก็จะส่งกลับประเทศจีน, หากไปจากยุโรปก็จะส่งกลับประเทศในยุโรป
“บางคนถูกจับได้ก็จะถูกริบหมดอาทิเช่นบัตรเครดิต เพื่อจะไม่ให้นำไปใช้ได้อีก บัตรเครดิตเหล่านี้สถาบันการเงินของสหรัฐเป็นผู้ออกให้ หากปล่อยให้ติดตัวออกมาความเสียหายก็จะเกิดขึ้นกับสหรัฐเอง”รายงานข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตามไม่มีใครทราบตัวเลขแน่นอนว่าโรบินฮู้ดไทยในสหรัฐมีจำนวนเท่าใด แม้กระทั่งสหรัฐเองก็ได้แต่เหมารวมๆว่ามีทั้งหมดทุกชาติประมาณ 10.9 ล้านคน
ศาลอุทธรณ์สหรัฐรับฟังคดี 7 กุมภาพันธ์
รายงานข่าวเปิดเผยว่ากรณีรัฐวอชิงตัน(และรัฐมินเนโซต้าขอร่วมเป็นโจท์)ยื่นฟ้องคำสั่งของฝ่ายบริหารในประเด็นผู้พยพเข้าเมือง สรุปได้ว่า“คำสั่งของประธานาธิบดี...ทำให้ครอบครัวชาวรัฐวอชิงตันแตกแยก,เป็นอันตรายต่อชาวรัฐวอชิงตันหลายพันคน,ทำลายเศรษฐกิจรัฐวอชิงตัน,ทำอันตรายต่อบริษัทที่ใช้รัฐวอชิงตันเป็นฐานบริษัท,เป็นการแทรกแซงอธิปไตยของรัฐวอชิงตันที่ยังยินดีที่จะต้อนรับบรรดาผู้ลี้ภัยอพยพและคนเข้าเมือง”
ต่อมานายเจมส์ รอบาร์ท ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นรัฐบาลกลาง,ซีแอตเติ้ล ส่งคำพิพากษาให้มีการระงับคำสั่งฝ่ายบริหารเป็นการชั่วคราว (temporary restraining order) เป็นเวลา 4 เดือนนับตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2017 เป็นต้นไป ทำให้กระทรวงความมั่นคงภายในที่ดูแลด้านอิมมิเกรชั่นต้องสั่งการไปยังสายการบินอนุญาตให้ผู้ถือพาสปอร์ต 7 ประเทศเดินทางเข้าสหรัฐได้ตามคำพิพากษาของศาลตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป
ขณะเดียวกันเมื่อเย็นวัน 4 กุมภาพันธ์ กระทรวงการยุติธรรมสหรัฐได้ยื่นเรื่องให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 (The 9th U.S. Circuit Court of Appeals) ที่ทำการตั้งอยู่ซาน ฟรานซิสโก เพื่อให้กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจะทำให้คำสั่งฝ่ายบริหารมีผลบังคับต่อไป สาเหตุเพราะผู้พิพากษาศาลชั้นต้น“ตั้งข้อสงสัยหรือคาดการณ์ล่วงหน้า”(second-guessing)ว่าคำสั่งจะเกิดอะไรตามมา
อย่างไรก็ตามศาลอุทธรณ์ภาค 9 ปฏิเสธคำร้องขอ แต่ให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐยื่นคำร้องในบ่ายจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ว่าจะมีการตอบโต้อย่างไรบ้าง (a counter-response) เพื่อศาลอุทธรณ์จะได้นำมาพิจารณา จากนั้นศาลอุทธรณ์ที่มีผู้พิพากษา 3 คนเปิดให้มีการโต้แย้งกันผ่านเทเลคอนเฟอร์เรนซ์เวลา 15.00 น.(เวลาฝั่งตะวันตก)ของวันที่ 7 กุมภาพันธ์ก่อนที่จะมีการชี้ขาดคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ผู้ที่จะเข้าไปโต้แย้งครั้งนี้มี 2 ฝ่ายประกอบด้วยเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (Solicitor General ซึ่งทำงานภายใต้อัยการสูงสุด กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ) ในฐานะผู้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งฝ่ายบริหารกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียอาทิเช่นบริษัทไฮเทค,กลุ่มสนับสนุนคนเข้าเมืองและกลุ่มสิทธิพลเมืองต่างๆ
บริษัทไฮเทคนับร้อย-นักการเมืองเดโมแครตร่วมแจม
สำนักข่าวเอพี.รายงานว่าเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2017 ได้มีผู้ยื่นเรื่องขอร่วมกับรัฐวอชิงตันและรัฐมินโนโซาต้าในการประชุมคอนเฟอร์เรนซ์ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดประกอบด้วย
บริษัทไฮเทคขนาดใหญ่ๆของสหรัฐเกือบ 100 บริษัทได้ยื่นคำร้องไม่ให้ศาลอุทธรณ์กลับให้คำสั่งของฝ่ายบริหารมีผลเพราะจะทำให้บริษัทไฮเทคอเมริกันไม่อาจดึงดูดบุคคลที่เป็นชนชั้นมันสมองมาร่วมทำงานได้,จะทำให้บริษัทมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น,จะทำให้บริษัทไฮเทคอเมริกันไม่อาจเข้าแข่งขันในตลาดนานาชาติได้,ไม่อาจจ้างคนใหม่ๆในต่างประเทศมาทำงานให้ได้”
ขณะเดียวกันมีนักการเมืองในฝั่งของพรรคเดโมแครตร่วมสนับสนุนคำฟ้องของรัฐวอชิงตันและรัฐมินเนโซต้าประกอบด้วยอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศจอห์น แคร์รี่และนางแมดเดอลีน ออลไบรท์,นายลีออน พาเนตต้า อดีตรัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐ,ซูซาน ไรซ์ ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นต้น โดยให้เหตุผลว่าคำสั่งของนายทรัมพ์ “ในท้ายที่สุดแล้วจะทำลายความมั่นคงของสหรัฐอเมริกามากกว่าทำให้เราปลอดภัยมากขึ้น”
“การห้ามบุคคล 7 ประเทศเข้าสหรัฐไม่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ความมั่นคงของประเทศ”คำร้องกล่าวและว่า “ในความเห็นของเราในฐานะเป็นนักวิชาชีพ คำสั่งดังกล่าวเป็นการมโนขึ้นเอง,การบริหารจัดการก็ยังไม่เข้มแข็ง อีกทั้งการอธิบายเหตุผลก็ฟังไม่ขึ้น”
รายงานข่าวเปิดเผยว่าภายหลังจากการรับฟังไต่สวนเทเลคอนเฟอร์เรนซ์ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์แล้ว ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทั้ง 3 ท่านจะนำไปพิจารณาก่อนที่จะส่งคำพิพากษาลงมา ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะส่งลงมาให้รับทราบวันใด จนกว่าจะรับฟังการไต่สวนจะแล้วเสร็จ
รายงานข่าวเปิดเผยว่าหากศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้น เชื่อว่ากระทรวงยุติธรรมสหรัฐจะยื่นเรื่องไปยังศาลฎีกาสหรัฐก็อาจเป็นได้ แต่โดยทั่วไปแล้วเมื่อศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นในหลายคดีถือเป็นอันยุติ แต่กรณีเป็นนโยบายของรัฐบาล จึงน่าจะส่งเรื่องให้ศาลฎีกาตัดสินเป็นพื้นฐานทางกฎหมายของประเทศต่อไป